ฝ่าวิกฤตเงินเฟ้อ เมื่อเศรษฐกิจไม่ใจดีอย่างที่คิด
ผู้ประกอบการ SMEs จะฝ่าวิกฤตอย่างไร ในวันที่ต้นทุนแพงขึ้น
จากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มก่อตัวเมื่อปี 2562 ตามมาด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเงินเฟ้อที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทำให้ในหลายๆ ประเทศมีการรัดกุมค่าใช้จ่ายและมีมาตรการระงับการส่งออก สะท้อนวิกฤตความมั่นคงทางอาหารและการขาดแคลนเชื้อเพลิง แหล่งพลังงานสำคัญ และปัจจัยหลักในภาคธุรกิจ
เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทย ก็จะเห็นว่ามีแต่ข้าวของขึ้นราคา โดยเฉพาะวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการหรือต้องใช้ในภาคส่วนธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น เมื่อแบกรับไม่ไหว ก็นำมาซึ่งการปรับราคาสินค้าหรือบริการที่มากขึ้นตามลำดับ ส่งผลกระทบต่อไปยังผู้บริโภคที่ต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ทางด้านผู้บริโภคเองก็มีการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าหรือบริการฟุ่มเฟือย ส่งผลกระทบย้อนกลับไปยังผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจอีกทอดหนึ่ง
ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละภาคธุรกิจ ได้รับผลกระทบอย่างไรในภาวะเงินเฟ้อ ?
ธุรกิจภาคการผลิต ถือเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อมากที่สุด เพราะต้นทุนของการผลิตแปรผันตรงกับราคาของวัตถุดิบเป็นหลัก เมื่อวัตถุดิบราคาสูงขึ้น ต้นทุนก็สูงขึ้นตาม ดังนั้น การปรับลดต้นทุนเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการทำกำไรได้ในสัดส่วนเท่าเดิม หรือไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก
ธุรกิจภาคบริการ อาจดูเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในทางอ้อม แต่ถือว่าได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักลดค่าใช้จ่ายในส่วนของการบริการ การท่องเที่ยว หรือสันทนาการเป็นอันดับแรก ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ หรือการท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบไม่ได้ต่างกับภาคส่วนอื่น
ธุรกิจภาคการค้า มักมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ค่าบริการขนส่ง ทั้งการส่งสต็อกสินค้า ส่งเดลิเวอรี่ ยิ่งเมื่อน้ำมันมีราคาสูงขึ้น ก็จะทำให้ค่าบริการขนส่งมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ในผู้ประกอบการหลายรายเริ่มทำการตลาดและขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากยิ่งขึ้น
แล้วผู้ประกอบการ SMEs ควรทำอย่างไรในวิกฤตเงินเฟ้อ ?
วิกฤตเงินเฟ้อ ถือเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในเชิงมหภาค ยากต่อการควบคุม และส่งผลกระทบต่อเนื่องในวงกว้าง สำหรับผู้ประกอบการเอง ก็ไม่สามารถควบคุมราคาข้าวของสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคธุรกิจได้ แต่จะให้แบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นก็ไม่ไหว จะขึ้นราคาสินค้าหรือบริการก็กลัวผู้บริโภคหรือผู้ซื้อน้อยลง แล้วผู้ประกอบการเองจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในยามคับขันเช่นนี้
1. รัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น
ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ หลายธุรกิจเลือกที่จะรัดเข็มขัดกันมากขึ้น โดยกลับมาทบทวนและวางแผนค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น สำหรับบางธุรกิจที่กำลังมีการขยายตัวอาจชะงักได้ เพราะ อาจมีการชะลอตัวการขยับขยาย หรือเลื่อนการลงทุน เลื่อนการขยายธุรกิจออกไปก่อน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจเองจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจและวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน
2. ลดต้นทุน ค่าดำเนินการ และค่าใช้จ่ายต่างๆ เท่าที่ทำได้
วัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจภาคการผลิตให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันค่าดำเนินการในการทำธุรกิจภาคการบริการหรือการค้าก็เพิ่มขึ้น เพราะมีการปรับขึ้นราคาค่าดำเนินการต่างๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าธุรกิจในภาคส่วนไหน การต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ก็ไม่เป็นผลดีกับธุรกิจ เนื่องจากส่วนของรายได้และกำไรเองก็จะลดลง การลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สามารถลดได้ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง
3. มองหาช่องทางสร้างพันธมิตรการค้า หรือการใช้เครดิตเทอมในการซื้อสินค้าหรือบริการ
แต่สำหรับบางธุรกิจอาจทำการลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายบางอย่างไม่ได้ เพราะหากมีการลดต้นทุน ลดปริมาณ คุณภาพที่ได้อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานของธุรกิจนั้นๆ สิ่งที่พอจะช่วยผู้ประกอบการได้ คือ การมองหาแหล่งต้นทุนที่มีราคาถูกลงมา แต่คุณภาพใกล้เคียงกัน โดยอาจมองหาจากคู่ค้า ซัพพลายเออร์ และทำสัญญาผูกขาดสินค้าบางประเภทที่เป็นวัตดุดิบหลัก เพื่อให้สินค้ายังคงคุณภาพตามแบบต้นฉบับของธุรกิจนั้นๆ
หรืออาจมีการทำสัญญาซื้อขายกับคู่ค้าในลักษณะเครดิตเทอม คือ การนำวัตถุดิบจากคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ไปใช้ก่อน เมื่อได้กำไรหรือรายได้ค่อยนำเงินมาจ่ายทีหลัง โดยทั่วไปมักมีระยะเวลาเป็นรอบการจ่ายตั้งแต่ 15 วัน, 30 วัน, 45 วัน หรือ 60 วันขึ้นไป
4. ปรับกลยุทธ์ด้านการตลาด ก้าวสู่โลกออนไลน์มากขึ้น
การตลาดออนไลน์เข้ามามีส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะเป็นพื้นที่ซื้อขายที่ไม่มีค่าใช้จ่ายแบบระบบหน้าร้าน ง่ายต่อการเข้าถึง และสามารถสร้างการรับรู้ของแบรนด์หรือสินค้าได้ง่าย ดังนั้น หากธุรกิจที่มีระบบหน้าร้านอยู่แล้ว การปรับการขายให้อยู่ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ก็จะช่วยให้ธุรกิจมีช่องทางในการทำเงินมากขึ้น
5. มองหาช่องทางรายได้เพิ่ม
การมองหาช่องทางรายได้เพิ่มของธุรกิจ สามารถทำได้ทั้งการขยายฐานลูกค้า ขยายสาขากับผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิม แต่ในอีกแง่หนึ่ง ธุรกิจเดิมอาจมีความมั่นคงพอตัวแล้ว การหารายได้เพิ่มโดยการตีตลาดใหม่ ทำการคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ทั้งที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ ก่อนที่ธุรกิจจะมีรายได้เพิ่มให้รอเก็บเกี่ยว การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ก็อาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องออกไปก่อนด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางใด หากเริ่มต้นก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจแล้ว การคำนึงถึงความอยู่รอดของธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ให้ธุรกิจอยู่รอดได้เพียงเท่านั้น แต่คนทั้งองค์กรและพนักงานในบริษัทก็ควรที่จะต้องอยู่รอดด้วยเช่นกัน
คุณมีนา อิงค์ธเนศ
COO, Business Online PCL.
🎶 TikTok 👉 https://www.tiktok.com/@matchlink
🕴 เข้าถึงลูกค้าและคู่ค้ามากขึ้น 👉 https://bit.ly/MatchLink_Register
Comments